ประวัติศูนย์สร้างทางสงขลา
โดยสังเขป

 

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 10 ถนนกาญจนวณิชย์ ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา 90000
ทิศเหนือ จดซอยเข้าบ้านพักศูนย์ และที่ดินเอกชน
ทิศตะวันออก จดถนนกาญจนวณิชย์(ทางหลวงหมายเลข 407 ตอน สงขลา – หาดใหญ่)
ทิศใต้ จดสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 สงขลา
ทิศตะวันตก จดที่ดินการรถไฟ

เนื้อที่ บริเวณศูนย์สร้างทางสงขลา มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 58 ไร่

         ศูนย์สร้างทางสงขลาเดิมชื่อศูนย์เครื่องมือกลสงขลา ได้เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์สร้างทางสงขลา เมื่อปี พ.ศ.2528 ศูนย์ฯ สงขลา ได้จัดตั้งขึ้น ในปี พ.ศ.2508 โดยรัฐบาลไทยกับรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ได้ตกลงร่วมมือกันตามแผนโคลัมโบ ในอันที่จะสร้างเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างกัน และเพื่อพัฒนาประเทศ ในภูมิภาคนี้ให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ในการนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้มอบเครื่องจักรกลเพื่อใช้ในการสร้างทาง มีมูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท และส่งผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นมาสนับสนุนให้การอบรมช่างเทคนิคไทย ในครั้งแรก จำนวน 10 คน โดยมีโครงการก่อสร้างทางสาย สงขลา - จะนะ - นาทวี เป็นเส้นทางสายแรก
         ศูนย์ฯ สงขลาได้ทำพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2508 โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย (จอมพลถนอม กิตติขจร) และเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเป็นผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่น ทางสาย สงขลา - จะนะ - นาทวี แล้วเสร็จ เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2511 ผู้เชี่ยวชาญ ชาวญี่ปุ่นก็เดินทางกลับประเทศ และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งผู้เชี่ยวชาญชุดใหม่มาให้ความช่วยเหลืออีก 3 คน มีโครงการให้ความ ช่วยเหลือตามนัยเดิมเป็นเวลา 2 ปี โดยสร้างทางสายเทพา - สะบ้าย้อย เป็นสายที่ 2 คณะผู้เชี่ยวชาญเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2513 ต่อมาในปี พ.ศ.2534 รัฐบาลไทยได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นด้านเครื่องจักรกลก่อสร้างทาง เพื่อทดแทนเครื่องจักรกลเก่าที่รัฐบาลญี่ปุ่น เคยมอบให้และได้ชำรุดเนื่องจากมีอายุการใช้งานมานาน ในปี พ.ศ.2536 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งมอบเครื่องจักรกลให้ศูนย์ฯ สงขลา รวม 25 รายการ และส่งผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นจำนวน 2 คน ให้การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ สงขลา และเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นในปีเดียวกัน